พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ผลิตมาจากอะไร?

Last updated: 12 ก.ย. 2566  |  576 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พลังงานไฟฟ้า

   

สัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ
     ลำดับ 1 ก๊าซธรรมชาติ  51%   
     ลำดับ 2 ถ่านหินนำเข้าและลิกไนต์  16%   
     ลำดับ 3 นำเข้า  14%
     ลำดับ 4 พลังงานหมุนเวียน  14%   
     ลำดับ 5 พลังน้ำ  4%   
     ลำดับ 6 น้ำมัน  1.4%
     แหล่งผลิตไฟฟ้าแต่ละแหล่งมีต้นทุน เสถียรภาพ และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ต้องบริหารการผลิตและซื้อให้เหมาะสมเพื่อให้ต้นทุนการขายที่ลดลง

      ก๊าซธรรมชาติเป็นต้นทุนหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งมาจาก 3 แหล่ง ราคาถูกที่สุด คือ ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย รองลงมาเป็น ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ และก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ “LNG” ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ตามลำดับ ที่ผ่านมามีการคิดราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติโดยใช้ราคา Pool gas ส่งผลทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่า Ft เท่ากับทุกสาขาที่ใช้ไฟฟ้า  ในรอบเดือน มค.-เม.ย 65 ค่า Ft ในสาขาบ้านอยู่อาศัยมีค่าต่ำลงกว่าสาขาอื่น เพราะคิดต้นทุนเชื้อเพลิง โดยใช้ราคาก๊าซจากอ่าวไทยซึ่งมีราคาต่ำกว่า pool gas

“pool gas” ในที่นี้ หมายถึง ก๊าซธรรมชาติที่จำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายอื่น เช่น ภาคอุตสาหกรรม และ NGV ซึ่งภายใน pool gas จะประกอบไปด้วยก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่มาจากโรงแยกก๊าซของ ปตท. ก๊าซจากเมียนมาร์ และ LNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมี ปตท.เป็นผู้บริหารจัดการ และมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่คำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ (energy pool price — EPP) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. โดยนำข้อมูลราคาและปริมาณก๊าซธรรมชาติจาก pool gas, LNG, LPG, น้ำมันเตา, ดีเซล และเชื้อเพลิงอื่นมาคำนวณหาราคาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก เมื่อกำหนดราคาเสร็จเรียบร้อย ก็ส่งให้ PTT shipper นำไปกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติ ขายให้ลูกค้าผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ทุกราย ทั้งโรงไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และ NGV ที่ใช้ในภาคขนส่ง

      ตามแผน PDP2022 ปี 2565-2580 จะเพิ่มพลังงานสะอาดเข้าระบบมากขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ.2593) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ.2608)    
      การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์  โดยประเทศภาคีสมาชิกจำนวน 197 ประเทศ มีมติเห็นชอบใน ข้อตกลง Glasgow Climate Pact ซึ่งเป็นข้อตกลงนานาชาติ ที่จะช่วยเร่งการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในทศวรรษนี้ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)

  




Credit | กระทรวงพลังงาน, EPPO

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้